top of page

Gentlemen? Who has to be gentle?

  • พระมงกุฎพระลบ
  • Mar 18, 2018
  • 2 min read

เพศชาย ในโลกสมัยใหม่ถูกมองว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการเข้าสู่ระบบแรงงานหรือเป็นผู้ประกอบในทางใดทางหนึ่ง แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากคลื่นทุนนิยมที่แผ่ขยายไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึง 20 เป็นต้นมา แม้แนวคิดนี้จะเริ่มเสื่อมสลายไปในหลายปริมณฑลของโลก เราปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าในประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งบางตำแหน่งแห่งที่บนโลกใบนี้ แนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ หรือ ปิตาธิปไตย เป็นระบบสังคมหรือระบบการปกครองที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ร่วมกับค่านิยมและวัฒนธรรมเดิม แนวคิดนี้จึงผลิตชุดค่านิยมต่าง ๆ ซึ่งทำร้ายไม่ใช่เพียงผู้หญิง แต่ยังทำร้ายผู้ชายในระบอบอีกด้วย เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จึงขออธิบายการทำงานของระบอบชายเป็นใหญ่นี้เสียก่อน

ปิตาธิปไตย (Patriarchy) เป็นระบอบซึ่งมอบสิทธิโดยมากให้กับ “เพศชาย” – ในบางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ จะนับเพียงผู้ชายเป็นพลเมืองเท่านั้น สตรี และเด็กอาจถูกกีดกันออกจากสิทธิบางประการในฐานะมนุษย์ที่พึงมีได้ การได้มาซึ่งสิทธิเหล่านี้ แปรเปลี่ยนเป็นอำนาจเพื่อการกดขี่ผู้อยู่ใต้บังคับ ซึ่งลักษณะการปกครองเช่นนี้สะท้อนออกมาทั้งในรูปแบบแนวคิด และรูปธรรม เช่น ลัทธิขงจื๊อใหม่ ที่กีดกันและจำกัดบทบาทของผู้หญิงนอกบ้านหลังออกเรือน หรือการมอบสิทธิการเลือกตั้งให้กับผู้ชายเท่านั้น ณ เมือง Athens ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแรกที่มีระบอบประชาธิปไตย

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงตกอยู่ที่ผู้หญิงเท่านั้น แรงกดดันและความคาดหวังหลายประการตกอยู่กับเพศชายที่ “ต้อง” เป็นช้างเท้าหน้า หรือหัวหน้าครอบครัว ทั้งหาเงินเข้าบ้าน และเป็นเสมือนหัวเรือที่บังคับทิศทางของบ้านให้ไปในทิศทางใด ค่านิยมในหลายวัฒนธรรมเรียกร้องให้ “เพศชาย” มีคุณสมบัติเหล่านี้ตามครอบครัวพิมพ์นิยม จนในภายหลังกลายเป็นมายาคติที่มองว่า “โดยธรรมชาติ” ผู้ชายจะแข็งแกร่ง และผู้หญิงจะต้องอ่อนโยน เพราะ “โดยธรรมชาติ” ผู้ชายจะกลายเป็นผู้นำ (จำเป็น) และผู้หญิงจะ (ต้อง) หัวอ่อนไม่นอกลู่นอกทางสามีของเธอ ที่ในภายหลัง Magaret Mead ออกมาโต้แย้งแนวคิดเหล่านี้ โดยกล่าวว่าสิ่งเหล่าเป็น social constructed หรือสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมา มันอาจถูกเปลี่ยนได้เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงสามารถวิเคราะห์เป็นประเด็นได้ว่า เมื่อเพศถูกสถาบันทางสังคมตีกรอบ จะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อปัจเจกนั้น ๆ บ้าง

เหยื่อกลุ่มแรกของระบบสังคมแบบปิตาธิปไตยนี้คือ ผู้หญิง

มันถูกแสดงออกมาผ่านมุกตลกที่ถูกใช้เพื่อล้อเลียนความคาดเคลื่อนของการเก็บ GDP คือ การที่คุณแต่งงานกับสาวรับใช้ของคุณ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศลดลง สาเหตุมาจากการเก็บข้อมูลสถิติชุดนี้ ละเลยการเก็บข้อมูลการทำงานบ้านของภรรยาแม่บ้าน เพราะถือว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไร้ตัวเงิน โดยมีการคาดคะเนถึงจำนวนเม็ดเงินที่สูญไปกับการละเลยชุดข้อมูลส่วนนี้ไป ว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 30% ของปริมาณผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ – ในขณะที่มีความพยายามในการเก็บข้อมูลผลผลิตการเกษตรเพื่อยังชีพ หรือผลผลิตที่ผู้ผลิตเก็บไว้บริโภคเอง และการถือครองที่ดินโดยไม่ปล่อยเช่า กลับเป็นกิจกรรมที่นักเศรษฐศาสตร์ยังพยายามนั่งเทียนประดิษฐ์เม็ดเงินจากกิจกรรมเหล่านั้นอยู่

ค่านิยมการดูแลสามี/พ่อ “อย่างที่สตรีควรทำ"

Image courtesy of Medium and Rutgers Spring 2014

ผลงานการสำรวจด้านสังคมวิทยาหลายชิ้นชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่ถูกเลือกของผู้หญิง ที่สังคมคาดหวังให้เป็นผู้จัดการงานบ้าน และดูแลคนในครอบครัว เมื่อมีลูก ความคาดหวังให้ผู้หญิงอยู่ติดบ้านเพื่อเลี้ยงลูก โดยมีสามีออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว กลายเป็นครอบครัวพิมพ์นิยมที่ใคร ๆ ควรเลียนแบบเพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของการครองเรือน นักสังคมวิทยา Christine Delphy ออกมาประณามสถาบันการแต่งงานตามแบบอนุรักษนิยม ที่กดขี่และขังผู้หญิงให้ทำได้เพียงแต่กิจกรรมภายในบ้านเท่านั้น เธอยังประณามไปถึงลักษณะสังคมแบบปิตาธิปไตย ที่บังคับให้ผู้หญิงทุกคน ทำหน้าที่เป็น “แม่บ้านแม่เรือน” เพื่อรับใช้สมาชิกครอบครัวฝ่ายชาย เช่น พ่อ พี่ชาย น้องชาย ซึ่งการกระทำเหล่านั้นของเธอ ไม่มีค่าเป็นตัวเงินสำหรับเธอเลย เธอกลายเป็น ช้างเท้าหลัง เพื่อสนับสนุนฝ่ายชายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ผู้หญิงจึงถูกผลักเข้าบทบาทการเป็น แรงงานอวัตถุ (immaterial labour) กล่าวคือผลผลิตของเธอไม่สามารถแลกเปลี่ยนหรือตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ เนื่องจากงานที่เธอทำนั้นขาดเวลาการทำงานที่แน่นอน และเนื้องานยังไม่มีความแน่นอนอีกด้วย การเรียนร้องค่าแรงจากแรงงานที่เธอเสียไปจึงเป็นไปได้ยาก สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้หญิงรู้สึกตัวเองด้อยคุณค่า จากการทำงานที่ตนระลึกเสมอมาว่าต่ำศักดิ์กว่า และยังขาดโอกาสการทำงานที่หลากหลาย นั่นจะทำให้พวกเธอแปลกแยกออกจากสังคม (alienation) ตามการสำรวจของ Ann Oakley เช่นเดียวกับแรงงานหน้าสายพานที่ไม่สามารถมีความรู้สึกเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ตรงหน้าได้เลย

“The fact that domestic work is unpaid is not inherent to the particular type of work done, since when the same tasks are done outside the family they are paid for.”

Christine Delphy & Diana Leonard, British Sociologist

ผู้ชายก็ร้องไห้เป็น เมื่อเราข้ามกันมาถึงประเด็นสำคัญนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพูดเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงเข้าใจ นั่นคือ เราต้องพยายามทำความเข้าใจระบบ และทำความเข้าใจกับผู้อยู่ใต้ระบบด้วยใจที่เปิดกว้าง มากกว่าการเรียกร้องอย่างผิวเผินที่เคยเป็นมาในอดีต อย่างที่ทราบกันแล้วว่า สังคมสุภาพบุรุษจะคาดหวัง และปั้นแต่งให้ผู้ชายทุกคนออกมาเป็นคนที่มีลักษณะสุภาพ ดูแลผู้หญิง เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในยามรับประทานอาหารร่วมกัน หรือยามไปซื้อของ ที่สำคัญคือมีลักษณะความเป็นชายตามที่สังคมนั้น ๆ ต้องการ ปัญหาไม่ได้เกิดที่ผู้หญิงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดกับผู้ชายอีกด้วย ผู้หญิงถูกปกครองด้วยผู้ชายในลักษณะของการดูแล และอีกทอดหนึ่ง ผู้ชายก็ถูกปกครองด้วยระบบที่สังคมคาดหวังเช่นกัน นั่นหมายความว่าผู้ชายจะดูไม่เป็น “ผู้ชายที่ดี (A Good Man)” ถ้าไม่สามารถสร้าง หรือมีคุณลักษณ์ต่าง ๆ แบบนี้ได้ คุณลักษณ์ที่ว่าสร้างความลำบาก และความอึดอัดใจให้ผู้ชายหลายคนไม่น้อย หากเราพิจารณาดี ๆ เช่น มารยาทการออกค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารหนึ่งมื้อ แน่นอนว่าเรามักจะมีภาพว่าผู้ชายเป็นผู้ออกไปทำงานเป็นหลัก จึงมีเงินสำหรับการออกค่าใช้จ่ายให้ผู้หญิง เมื่อมีปัจจัยสำคัญที่ว่า ผู้หญิงไม่ได้ทำงาน และใช้เวลาอยู่ในบ้านเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ชายจึงควรออกค่าใช้จ่ายในเหตุการณ์เสียเงินต่าง ๆ แต่ถ้าลองคิดดูว่า ผู้ชายคนนั้นไม่ได้มีฐานะดี หรือบางกรณีผู้หญิงมีฐานะที่ดีกว่า นั่นแปลว่าผู้ชายต้องยอมสละเงินที่เป็นส่วน “หนี้” ของผู้หญิง หรือพูดอีกนัยคือต้อง “ขูดเลือดขูดเนื้อ” ตัวเองเพื่อให้ผู้หญิงที่ฐานะดีกว่า หรือสมควรจ่ายในหนี้ของตัวเองอย่างนั้นหรือ? – หนี้ในที่นี้หมายถึงจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพื่อชำระอะไรบางอย่าง เช่น ค่าอาหารในแต่ละมื้อ เป็นต้น – นี่ไม่ได้อยู่แค่ในขอบเขตของการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่อยู่ในเรื่องของการซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ ด้วย เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า ซึ่งแท้จริงเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเองมิใช่หรือที่ต้องเก็บเงิน เพื่อชำระหนี้เหล่านั้น

มากไปกว่านั้น ถ้าเรามองในประเด็นที่ลึกลงไปอีก ผู้ชายมักถูกคาดหวังให้เป็น “ช้างเท้าหน้า” หรือเป็นผู้นำของสังคม มักจะมีใครหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ในการให้การศึกษา มองว่าผู้ชายต้องแบกรับความรู้ แบกรับหน้าที่นานา เนื่องจากในอนาคตคนที่ถือเพศนี้ต้องแต่งงาน เป็นพ่อของลูก และเป็นสามีที่ดีของภรรยา นั่นหมายถึงเป็นหัวเรือหลักในการหาเงินเข้าบ้าน แต่นั่นเป็นสิ่งจำเป็นหรือ? เราต้องลองถามกลับดูว่า ผู้หญิงเองก็มีงาน มีหน้าที่ที่ต้องทำเช่นกัน ผู้ชายมิใช่เพศเดียวที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพึงกระทำเพื่อจุนเจือครอบครัวของตัวเอง มิใช่การวางหน้าที่อันหนักอึ้งให้ใครคนใดคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า Toxic Masculine หรือความเป็นชายทำพิษ เพราะมันสร้างภาระ (burden) ให้กับเพศชาย เหมือนกับว่าผู้ชายถูกโยนภาระหลายอย่างเข้าตัว และถ้าไม่สามารถบรรลุแก่ความคาดหวังที่สังคมมอบไว้ให้ได้ ผู้ชายคนนั้นจะไม่เป็นผู้ชายที่ดีตามแบบที่สังคมกำหนด นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตเวช เช่น กลุ่มอาการโรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) ก็ได้

“Feminism is a movement to end sexism, sexist exploitation, and oppression.”

bell hooks

สรุป ความเสียหายของปิตาธิปไตยไม่ได้เกิดกับผู้หญิงเท่านั้น แต่เกิดกับทุก ๆ เพศ นั่นคือเราขาดความเป็นเนื้อแท้แห่งตัวเอง และขาดอิสระในการที่จะเลือก ที่สำคัญคือการเลือกที่จะเป็นตัวเอง ผู้ชายไม่สามารถแสดงอารมณ์อ่อนไหว และผู้หญิงถูกกำหนดบทบาทอย่างชัดเจน การทำความเข้าใจและแก้ไขในแนวคิดที่ทำพิษถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิบัติต่อกันในสังคม มากไปกว่านั้นคือการเข้าไปแก้กฎหมาย หรือเพิ่มสิทธิ เสรีภาพแก่ทุกเพศอย่างเท่าเทียมและอย่างเข้าใจ

Illustrated by Sira Boontositrakul

Image courtesy of Wix

Comments


FOLLOW US
  • Black Facebook Icon
  • Black YouTube Icon
  • Black Instagram Icon
SEARCH BY TAGS
FEATURED POSTS
ARCHIVE
bottom of page