Enjoy Taking Risks : A College Without High School
- AC Ed Tech ชมรมสื่อฯ โรงเรียนอัสสัมชัญ
- Jul 21, 2017
- 3 min read

จำได้แม่นเลย ครั้งสุดท้ายจริงๆที่เราเจอกันน่าจะเป็นที่ One Day Camp กิจกรรมจิตอาสาอันหนึ่ง ช่วงปิดเทอมตุลาคม เราทั้งคู่อยู่ ม.2 ใครจะไปรู้ว่าหลังจากนั้น เราก็แทบไม่เคยเห็นเขาที่โรงเรียนอีกเลย จนเลื่อนๆผ่านในเฟสบุ๊คบ้าง อินสตาแกรมบ้าง เห็นเพื่อนอัปรูปไว้ผมยาว แถมย้อมสีผมอีก โลเคชั่นก็เป็นนิวซีแลนด์ ก็พออนุมานเอาว่า คงไปเรียนต่อต่างประเทศมั้ง รู้ตัวอีกที เราซึ่งขึ้นม.5 เป็นที่เรียบร้อย ก็กำลังเรียนหนัก เช้าอยู่โรงเรียน เย็นอยู่ติวเตอร์ ตัดภาพมาที่เพื่อนเราคนนี้ …. สอบติดแล้ว
ไม่ได้การณ์ละ, เรารีบแมสเสจหาเพื่อนสนิทของเขา (ผู้สัมภาษณ์ของเรา ซึ่งอยู่ AC Ed Tech ด้วย) “เฮ้ย นัดสัมภาษณ์โอ๊คให้หน่อย” ในใจก็ได้แต่คิดว่า จะว่างรึเปล่าหว่า เพราะกว่าจะแมสเสจไปคือช่วงกิจกรรมรับน้อง บวกกับเขาเป็นหลีดคณะฯด้วย ไม่น่าว่างเท่าไหร่ แต่ไม่รู้หล่ะ ยังไงก็ต้องได้คุย อยากแชร์เรื่องราวนี้มากๆ
จนสุดท้าย, นัดได้ด้วย, เย่
บทสัมภาษณ์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตที่ก้าวออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่จบ ม.3 จนตอนนี้เพื่อนคนนี้ได้เข้ามหาวิทยาลัยก่อนเพื่อนร่วมรุ่นทุกคน กับ โอ๊ค – สรวิศ จงถาวรวาสนา AC 133 ปัจจุบัน นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
AC Ed Tech : อยากถามก่อนเลยว่าตอนอยู่ ม.3 คิดยังไงถึงได้ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์
ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตอน ม.2 ปิดเทอม ที่เหมือนช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไทยนิดหน่อยที่จะทำให้การสอบเข้ามหาลัยเนี่ยมีความยุ่งยากขึ้น มันก็เริ่มมีข่าวตั้งแต่ตอนนั้น และด้วยความกดดันจากการอยู่โรงเรียนไทย พอมีโอกาสก็เลยก็ลองได้ศึกษาหาข้อมูลดู แล้วก็ไปเจอบริษัทที่ให้ไปเรียนต่อเมืองนอก แล้วสุดท้ายก็เลยเลือกเป็นนิวซีแลนด์เพราะว่าเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก แล้วก็มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ซึ่งก็โอเค หาบริษัทนู่นนี่ ก็สุดท้ายก็ได้ไปนิวซีแลนด์มาเกือบๆ ปี

AC Ed Tech : ตอนแรกสรวิศก็เล่าว่าจะไปเรียนถึงที่นู่นจนจบ ม.6 ก่อนแล้วค่อยเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมถึงตัดสินใจกลับมาก่อน
คือถ้าจะเรียนที่นู่น คือตอนที่ไปเรียนอยู่ Year 10 (เทียบกับไทยคือ ม.4) ซึ่งที่นู่นจบ High School (โรงเรียนมัธยม) Year 13 (เทียบกับไทยคือ ม.6+1) แต่ว่าถ้าจบ Year 13 คือเรียนมหาวิทยาลัย 3 ปี แต่ถ้าจะกลับมาต่อไทยคือเรียนถึงแค่ Year 12 (เทียบกับไทยคือ ม.6) แล้วก็กลับมา ก็คือเท่ากับว่าปกติแล้วก็คือเรียนที่นู่น 3 ปี แต่ว่าพอไปอยู่ได้ปีนึงก็โอเคแล้วแหละ ช่วงแรกมันก็จะมี Struggles แบบ Homesick นู่นนี่ แต่พอเริ่มปรับตัวได้ มันก็ดี ทุกอย่างก็ลงตัว พอกลับมาก็เหมือนได้ไปเจอเพื่อน เจอคนแนะนำให้ไปสอบวุฒิเทียบตัวนึง ไม่ได้แนะนำหรอกแต่ว่ามีเพื่อนที่สอบวุฒิเทียบตัวนี้อยู่ ก็คือเพื่อนที่มาจากนิวซีแลนด์เหมือนกัน เขาบอกว่าสอบตังนี้ชื่อว่า GED ซึ่งเป็นวุฒิเทียบการศึกษา ม.6 High School ของอเมริกา ซึ่งก็จะทำให้สามารถเข้าเรียนมัธยมปลายได้เร็วกว่าคนปกติก็คืออายุสิบกว่าปีก็สามารถสอบ GED แล้วก็เข้ามหาลัยได้เลย แต่ว่า GED ก็จะมีข้อจำกัดที่มันสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้แค่ในภาคอินเตอร์ แล้วก็ต้องใช้คะแนนอย่างอื่นประกอบด้วย ก็เหมือน GAT-PAT แต่อันนี้ก็จะเป็น SAT, IELTS แทน
AC Ed Tech : ก็คือสอบ GED นี่คือไม่ดูวุฒิจบ ดูแค่อายุ แล้วก็สิ่งที่สอบมาเอามารวมเป็นคะแนน
ใช่ ก็คือในการเข้ามหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์หลักๆ ก็ใช้วุฒิจบ ม.6 ก็ใช้ GED แล้วก็ SAT แแล้เวก็ IELTS ประมาณนี้
AC Ed Tech : ใข้เวลาเรียนตรงนี้เนี่ย นานไหมกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยได้
เอาจริงๆคือบอกได้เลยว่า Gap Year ไปปีนึง ปีครึ่งด้วยซ้ำ กลับมาไทยตอนประมาณปลายปี 2015
AC Ed Tech : ปลายปี 2015 ก็คือปลายปี ม.3 ?
ใช่ กลับมาตอนจบ ม.3 แล้ว แล้วก็หลังจากนั้นก็ทั้งปี 2016 เลย ก็คือเรียนแค่ SAT กับ IELTS กับ GED ก็คือสอบทุกอย่าง ใข้เวลาเศษๆก่อนยื่นก็เกือบๆปีครึ่ง เพราะยื่นตอนช่วงปลายมกราคม ต้นกุมภาพันธ์ ของปี 2017
AC Ed Tech : ความรู้สึกตอนที่ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเนี่ย มันโอเคไหม แบบไม่ต้องอยู่ในกฎระเบียบ ทรงผม เสื้อผ้า วินัยของตัวเองในการเข้าเรียน หรือไม่ก็ความรู้เบื้องต้นที่เพื่อนมี แต่เราไม่มี รู้สึกยังไง
เอาจริงๆตั้งแต่ไปที่นิวซีแลนด์มันก็เหมือนได้ไปปรับตัวหลายๆอย่างที่ไม่คุ้นชิน หลังจากที่อยู่สังคมไทยมา 14-15 ปีมาก่อนจะไป มันก็เหมือนไปปรับใหม่หมดที่นู่น เหมือนที่นั่นก็จะชิลล์ ขึ้น Relax ขึ้น ได้ทำอะไรที่อยากทำ อยากลองทำมากขึ้น แต่พอกลับมาที่นี่ พอเทค Gap Year เหมือนกับว่างตลอดเวลาเลย เอาจริงๆ นอกจากเรียนแล้วเอาจริงๆ Gap Year จะว่าดีไหมมันก็ดี จะว่าไม่ดีมันก็ไม่ดี คือถ้าเราไม่บังคับตัวเองมันก็ไม่มีใครมาบังคับเราแล้ว มันก็จะหลุดไปเลย คือมีเหมือนกัน มีเพื่อนที่แบบมาเหมือนกันอารมณ์เหมือนกันเลยแต่ว่าก็ไม่ได้แบบทำจนจบไรงี้ ก็คือเหมือนเทค Another Gap Year ก็คือเหมือนแบบมันขึ้นอยู่กับตัวเราเองจริงๆ ว่าเราบังคับตัวเองมากแค่ไหน
AC Ed Tech : สรวิศก็เป็นคนนึงที่ทำได้ ?
มันก็ไม่เชิงขนาดนั้น คือมันเหมือนว่าความรู้เราก็จะน้อยกว่าคนที่จบ ม.6 ทั่วๆไป ความรู้พื้นฐานหรืออะไรพวกนี้อาจจะสู้คนอื่นไม่ได้ มันก็ต้องยอมรับในข้อด้อยตรงนี้ มันก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ทั้งก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว
AC Ed Tech : ขอความรู้สึกตอนกลับมาจากนิวซีแลนด์แล้วรู้ตัวว่าไม่มีใบจบวุฒิ ม.3 ไม่มีโรงเรียนที่สังกัดอยู่ รู้สึกกังวลหรือเครียดอะไรหรือเปล่า
ก็เหมือนแบบ เวิ้งว้างไปสักพักนึง อารมณ์เหมือนแบบไม่มีสังกัดอยู่ ไม่มีโรงเรียนให้อยู่ ไม่มีเพื่อนให้ไปเจอเหมือนกับปกติแล้ว มันก็จะรู้สึกแปลกไปอีกแบบนึง ถ้าใครไม่ได้เทค Gap Year ก็จะไม่มีความรู้สึกแบบนี้เลย

AC Ed Tech : รู้สึกดีมั้ยที่ไม่ต้องไปโรงเรียนตอนเช้า (หัวเราะ)
เอาจริงๆมันก็ดีนะ มันก็เหมือนได้ตื่นสายแต่เอาจริงๆเวลาเริ่มเรียน SAT เรียน IELTS มันก็มีคลาสที่ต้องตื่นเช้าบ้าง ไม่ได้ชิลล์ขนาดนั้น ถ้าเราบังคับตัวเองให้ไปเรียน แต่ว่ามันก็ขึ้นอยู่กับเรา ถึงคลาสเก้าโมงแต่มันก็ไม่ได้มีใบเช็คชื่อแบบเข้าเรียนแบบมาสายอะไรแบบนี้ มันแล้วแต่เราล้วนๆเลย
AC Ed Tech : ช่วงที่ GED นี่เรียนที่ไหน สยามใช่ไหม
ใช่ คือจริงๆเรียนเองก็ได้ คือถ้ามีความพยายามแล้วก็กดดันตัวเองให้ทำ ให้อ่านเองอะไรงี้มันอ่านเองได้หมดเลย ทั้ง SAT, IELTS, GED มันอ่านเองแล้วไปสอบเองได้หมดเลย แต่ถ้าเกิดคิดว่าไม่ได้บังคับตัวเองได้ขนาดนั้น ไปลงเรียนก็ดี เพราะแบบมันมีที่สอนพิเศษสำหรับเด็กที่จะเข้าภาคอินเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ
AC Ed Tech : ไม่ Fixed เลขใช่ไหม
ไม่ Fixed, ไม่ Fixed เลย ฟีลก็เหมือนสอนพิเศษแบบ อ.อุ๊ อะไรงี้ ซึ่งก็เปิดเยอะมากขึ้น
AC Ed Tech : ก็ได้เพื่อนต่างวัย ต่างเพศเยอะขึ้น เรียนเป็นกลุ่มเล็กใช่ไหม ไม่ใหญ่มาก
ก็จะได้เพื่อนหลักๆ ส่วนมากที่ได้ใหม่ๆ ก็จะเป็นเด็กอายุ 18-19-20 อะไรงี้ที่อาจจะซิ่วมาแล้วก็กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกัน หรือบางคนถ้าโชคดีหน่อยก็จะเจอเด็ก 16 เหมือนกันที่มาเหมือนกันแต่ก็เป็น Rare Case
AC Ed Tech : แล้วการเลือกคณะนี่คือเราเลือกได้แต่หลักสูตรนานาชาติ ?
ใช่ เพราะว่ามันเป็นข้อจำกัดที่เราสอบ GED มา
AC Ed Tech : แต่เราเลือกได้ใช่ไหมว่าจะเข้าคณะอะไร
ใช่ เลือกได้ GED เนี่ยเป็นแค่วุฒิ ม.6 ก็คือวุฒิ ม.6 เนี่ย ไม่ค่อยมีผล ก็คือแทบไม่มีคณะไหนเลยที่เอาเกรดม.6 ก็คือตรงนี้ก็ตัดไปเลย มันก็จะกลายเป็นว่าเหลือแค่คะแนน SAT กับ IELTS ที่จะวัดผลว่าจะได้เข้าคณะไหน คือมันเหมือนอินเตอร์มันจะเป็นระบบรับตรงหมดเลย ก็จะสามารถสมัครกี่คณะก็ได้ ไม่เหมือน Admission ที่จะต้องวัดอันดับ
AC Ed Tech : คือแบบ มีอยากเข้าสิบคณะเราก็เลือกได้สิบคณะเลย
ใช่ ก็คือทั้งแบบไม่ว่าจะเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ยื่นไปได้หมดเลย ไม่ว่าจะมี 20 หรือ 30 คณะก็ยื่นได้หมด ถ้ามีคะแนนพวกนี้พื้นฐาน
AC Ed Tech : แล้วสรวิศเลือกคณะอะไรไปบ้าง
อันดับแรกเลยก็ต้อง BBA ซึ่งก็คือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ของทั้งจุฬาฯแล้วก็ธรรมศาสตร์ แล้วนอกนั้นก็มีพวกคณะนิเทศหรือว่า COMM ARTS ของจุฬาฯ แล้วก็ JIPP คือ จิตวิยาจุฬาฯ มี อักษรศาสตร์ จุฬาฯ มี LLB ก็คือนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เรียกได้ว่าเยอะเหมือนกัน
AC Ed Tech : ติดหมดเลยปะนั่น
ติดหมดเลย ซึ่งเราก็เลือก BBA จุฬาฯ

AC Ed Tech : ดูความคิดของสรวิศก็โตขึ้นใช่ไหม
มันเหมือนพอเราเจอเพื่อนๆ ที่มีอายุมากกว่า อยู่แต่กับคนที่อายุส่วนมากเนี่ยมากกว่าเรามันก็จะเหมือน Absorb เหมือนซึมซับพวกความคิดเหล่านั้นมา มันก็แบบ แต่ถามว่าดีไหม อันนี้ก็ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะว่าเหมือนแบบการที่มันมีไอ่นี่เหมือนเด็กมันก็จะเหมือนได้ใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กให้คุ้มค่าอะไรแบบ เพราะว่าการ Step ไปให้มีความคิดให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมันก็จะช่วยแบบการทำงานในชีวิตจริงอะไรงี้ พวกที่อยู่ในรรเอาจริงๆก็ทำได้ แต่ก็อาจจะยากกว่าหน่อย เพราะมันก็จะไม่ค่อยได้เจอคนที่หลากหลาย เรื่องของเพศ อายุ ความคิด อะไรแบบนี้ เพราะมันก็มีเหมือนกันที่ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่ได้มีความคิดที่ผู้ใหญ่ตามไปด้วย ก็จะได้เจอหลายๆ แบบ ทำให้เราได้เห็นโลก เห็น สังคมภายนอกมากขึ้น
AC Ed Tech : พร้อมไหมสำหรับเปิดเทอมมาที่ต้องเป็นนิสิตเต็มตัว
ตอนนี้ก็เกือบเต็มตัวนะ เพราะว่าถ้า BBA ของจุฬาฯกับธรรมศาสตร์เนี่ยจะต้องเรียน Summer ซึ่ง Summer เนี่ย ทำทุกอย่างเหมือนกับตอนเปิดเทอมเลย ก็คือแต่งชุดนิสิต มาเรียน มีคลาส ลงเท่านี้ ถ้าไม่เข้าก็คือไม่ผ่าน ไม่ได้ Pass ขึ้นไปต่อ แต่มันก็ปรับตัวเหมือนกันนะ ให้กลับมาคุ้นชินกับการไปโรงเรียน ไปมหาลัย กับ Routine ซ้ำๆอะไรแบบนี้
AC Ed Tech : กลัวไหมว่าเราเข้าไปเรียนมหาลัยเนี่ย แล้วจะเป็นที่ท้ายๆของในห้องเรียน
กลัวอยู่แล้ว เพราะว่าพอเข้าไป คนที่อายุมากกว่าก็จะเห็นโลกมามากกว่า รู้จักคนเยอะกว่า ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมาเยอะกว่า มันก็ต้องเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เราจะกลังข้อสอบแบบ คิดมาตั้งสองปี แต่มันก็ มันก็ต้องทำให้ได้อะ เพราะว่าเราเลือกมาเอง
AC Ed Tech : เท่าที่เรียนมา เนื้อหาอยากรึเปล่า
ยาก แต่หลักๆที่เรียนตอน Summer ก็จะมีแค่การเรียนคำศัพท์เพื่อธุรกิจ แล้วก็จากนั้นก็จะเริ่มยากขึ้นๆ มีทั้งเรียน เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก เรียน Account แล้วก็เรียนพวก Calculus ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน
AC Ed Tech : ที่สรวิศเลือก BBA นี่คืออยากทำเกี่ยวกับบัญชีตั้งแต่เด็กเลยหรอ
ไม่ ต้องพูดอย่างงี้ว่า ประสบการณ์ตอนไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ ได้สอนอะไรหลายๆอย่าง ที่บอกว่าได้ทำอะไรที่แบบไม่เคยทำ ตอนไปอยู่ที่นั่นมันจะมีวิชาให้ลงเลือกสามอัน ให้เลือกเองเลย ก็คือลงวิชา Drama วิชาทำอาหาร Cooking แล้วก็ลงวิชา Business เป็นวิชาที่เรียนรวมๆอะไรแบบนี้ ก็แบบได้รู้ว่าตัวเองแบบ เฮ้ย ตัวเองก็ Acting ได้ ทำดราม่าได้ คุกกิ้งก็ได้ ก็ชอบ Cooking ก็ได้ค้นพบตัวเองว่า เฮ้ย พอเรียน Account ในวิขา Business ไปก็ชอบเหมือนกัน ก็เลยได้เห็นตัวเองมากขึ้นว่าจะไปในทิศทางไหน เพราะเหมือนแบบ ถ้าอยู่รรไทยก็จะเป็นวิชาบังคับหมดเลย ก็จะหาตัวเองยากหน่อย ว่าสุดท้ายแล้วอยากเรียนอะไรกันแน่

AC Ed Tech : คิดถึงเพื่อนมั้ย เพื่อนเก่าๆ
คิดถึง ก็เหมือนแบบ แทบไม่ได้เจอเพื่อนรุ่นดียวกันในอัสสัมเลย เหมือนห่างหายจากสังคมที่เคยอยู่ไปเลย
AC Ed Tech : สุดท้ายนี้ สรวิศอยากจะบอกอะไรผ่าน AC Ed Tech ให้ชาวอัสสัมและคนที่เข้ามานั่งอ่านจนจบได้นำไปใช้ ไปปฏิบัติต่อไปไหม
ก็ไม่ได้บอกว่า สิ่งที่ตัวเองทำ ถูก หรือดี หรืออะไร การที่ Skip มาสองปีมันก็มีข้อดีข้อเสีย ข้อดีก็อาจจะแบบได้เรียนจบก่อนเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ได้ทำนู่นทำนี่หลังจบเร็วขึ้น แต่ข้อเสียมันก็คือเราเสียแบบ Connection ในวัย High School ของเราไปเลย แบบสูญเสียความทรงจำตรงนั้นไป ทั้งที่เราควรจะได้ถ้าเราเรียนตามปกติ ก็แค่อยากบอกไว้ว่า เหมือนถ้าใครกำลังคิดหรือกำลังตัดสินใจที่จะทำอะไรสักอย่างอยู่ แล้วมันไม่ใช่เรื่องไม่ดี ก็แค่ “GO FOR IT” ก็คือ ทำไปเลย ตอนที่เลือกไปนิวซีแลนด์ ก็ไม่ได้คิดว่าแบบจุดจบตัวเองตอนนี้จะมาอยู่ตรงนี้ จะมาเป็นแบบนิสิตปีหนึ่งอยู่ตอนนี้ ขณะที่เพื่อนอยู่ ม.5 กัน แต่คือเหมือนแบบ โชคชะตาแค่พาเราไป แค่แบบ เรากล้าที่จะลองเปลี่ยน กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ออกจาก Comfort Zone ของเรามันก็จะทำให้เราได้พบกับแบบอะไรใหม่ๆ ได้พบกับชีวิตที่ ถ้าเราไม่ได้เจอด้วยตัวเองก็จะไม่มีทางได้ Experience นี้เลย ก็ฝากทุกคนไว้ด้วย
“JUST GO FOR IT”
Interview by : Garn Tarutiyasiri Intro & Illustrated by : Chainwit Dhanasarnsombat
Interview Transcribed by : Thanadol Kulkosa
FOR YOUR INFO
GED ย่อมาจาก General Educational Development เป็นการสอบเพื่อเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายตามหลักสูตรการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถสอบได้ในประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย โดยการสอบ GED ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ของประเทศไทย โดยมีเกณฑ์คือ ผู้สอบจะต้องมีอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ในวันที่สมัครสอบ [อ้างอิง]
IELTS ย่อมาจาก International English Language Testing System เป็นการสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมและการยอมรับมากที่สุดในมากกว่า 9,000 องค์กร ทั้ง สถานศึกษา บริษัท องค์กร และรัฐบาล ในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก [อ้างอิง]
SAT ย่อมาจาก Scholastic Assessment Test คือการสอบมาตรฐานของเด็ก High School ในอเมริกา ซึ่งมี High School จำนวนมาก และมีมาตรฐานการเรียนการสอนตลอดจนการวัดผลแตกต่างกัน จึงมีการสอบเพื่อเปรียบเทียบความพร้อมและความสามารถที่แท้จริงของนักศึกษา แต่ละคน โดยไม่ใช้เกรดจากโรงเรียน เทียบได้กับการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศไทย [อ้างอิง]