top of page

เป็นเกย์แล้วตลกมากหรอ? ทำไมตุ๊ดเกย์จึงเป็นคำล้อกัน ในเชิงจิตวิทยา

  • พระมงกุฎพระลบ
  • Jun 14, 2017
  • 1 min read

*เนื่องจากบทความนี้จะตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับศัพท์เรื่องเพศบางอย่าง ซึ่งจะแจกแจงประเด็นออกเป็นสองคำถาม ทางผู้เขียนจึงแบ่งออกเป็นสองบทความ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความกระชับของบทความ (สามารถติดตามอีกบทความได้เร็วๆนี้)

Q: อะไรคือสาเหตุหลัก และวัตถุประสงค์ ของการนำเพศมาเรียกเพื่อแทนคุณสมบัติบางอย่างเมื่อเราต้องการล้อเลียน หรือบริภาษผู้อื่น?

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนคงจะสังเกตได้ว่า มี Feature ใหม่ของเฟสบุ๊กที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้แสดงความชอบต่อโพสในลักษณะของธงสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาว LGBTQ อย่างหนึ่ง (กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ กระเทย) เป็นผลพวงมาจากเดือนแห่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ Pride Month) ซึ่งเทศกาลนี้ถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะแพร่ขยายไปทั่วโลก

การเดินขบวน Gay Pride จัดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายนของทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 48 จัดขึ้นที่เมือง Chicago สหรัฐอเมริกา, Cr : timeout.com

การเดินขบวน Gay Pride จัดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายนของทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 48 จัดขึ้นที่เมือง Chicago สหรัฐอเมริกา [Photo Courtesy of timeout.com]

ก่อนที่เราจะไปไกลถึงต่างประเทศ เราลองมามองกันในสังคมที่เราอยู่กันก่อนดีกว่า ว่าเจตคติทางเพศของพวกเราเป็นอย่างไรกันบ้าง

เคยสังเกตกันไหมในห้องเรียน ว่า เวลาที่เพื่อนของเราสรรคำมาบริภาษหรือล้อเลียนอีกฝ่ายหนึ่ง หนึ่งในศัพท์ที่จะถูกหยิบยกมามากที่สุดคือคำว่า “เกย์”

ไม่ใช่แค่นั้น การเรียนการสอนบางครั้ง ที่มักจะให้ความสำคัญกับการออกมายอมรับผิดอะไรซักอย่าง – ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ควรมีแก่ทุกคน – เรากลับเรียกรวมคุณสมบัตินั้นเป็น package ชื่อ “ลูกผู้ชาย” หรือสามารถสังเกตในวรรณคดีลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งนันทะบุเรง กษัตริย์แห่งพม่าในช่วงยุคสมัยหนึ่ง ก็ได้กล่าวแก่พระมหาอุปราช ลูกชายของตนที่จะออกไปสู้ศึกกับพระนเรศวรมหาราช ซึ่งได้ฟังคำจากโหรแล้วจึงกลัวในโชคชะตาของตนที่จะต้องตาย ว่าหากกลัวตายเสียขนาดนั้น “จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์” (ลิลิตตะเลงพ่าย, กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระราชนิพนธ์ราวปี ๒๓๗๕) ให้ความหมายว่าหากกลัวตายนัก จงสวมอาภรณ์ของสตรีแล้วอย่าออกไปสู้รบเลย – พึงระลึกว่านี่ไม่ได้แสดงถึงทัศนะของชาวพม่าสมัยก่อน แต่เป็นการแสดงถึงคติของกวีชาวไทย เพราะลิลิตตะเลงพ่ายเป็นหนังสือของชาวไทย มิใช่ของพม่า

เห็นภาพอะไรไหม? เราให้ความสำคัญและสรรเสริญเพศชายว่า เป็นเพศที่ยอมรับผิดและสิ่งที่ตัวเองได้ก่อไว้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีไว้ทั้งนั้น – เพราะเป็นการสร้างสุขภาพจิตที่ดี โดยการหลีกเลี่ยงการใช้กลไกป้องกันตัวเองในระยะยาว

ทำไมล่ะ? ทำไมเราถึงไม่บอกว่า “ใครกล้าก็ขอให้รับผิด” รุนแรงหน่อย ก็บอกว่า “ใครเป็นมนุษย์ ขอให้แสดงความรับผิดชอบ” เพราะต้องเป็นมนุษย์ที่จะต้องกล้ารับในสิ่งที่ตัวเองได้ก่อ หาไม่ เรากลับกล่าวกันว่า “ใครที่ไม่รับผิด แสดงว่ามันไม่ใช่ลูกผู้ชาย”

ทิ้งคำถามกันไว้ให้ขบคิด ก่อนที่จะย้ายไปที่ศัพท์อื่นกันบ้าง เราจะมาดูกันอีกคำหนึ่งคือคำว่า “ตุ้ด” เพราะเห็นใดบุคลิกภาพที่เรียบร้อย ออกหญิงหน่อย ๆ หรือการยอมคนอื่นโดยง่าย ทำไมบางคนให้เพศนี้เป็นเพศแห่งการไม่ยอมรับผิด (ตรงกันข้ามกับความเป็นลูกผู้ชาย) และที่สำคัญคือ ทุกคนมักจะหัวเราะกับประเด็นเหล่านี้ ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องตลก เมื่อไหร่กันที่เราเอาความหลากหลายทางเพศมาจัดคุณสมบัติให้ เช่น ผู้ชาย คือการยอมรับผิด ตุ้ด คือการไม่เป็นลูกผู้ชาย เกย์ คือคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมเฉพาะบางอย่างที่ทำให้นักเรียนสองคนที่เป็นชายทั้งคู่ ซึ่งดูรักกัน อะไรก็ว่ากันไป

เคยสงสัยกันไหม หรือเพราะมันเป็นปกติของสังคมอยู่แล้ว มันถึงไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ

ฟรอยด์ (Freud, Sigmund) เคยอธิบายไว้ว่า ความตลกช่วยลดทอนความก้าวร้าวในเนื้อหาและนำเสนอมันออกมาในทางที่สังคมยอมรับ อ้างอิงจากจุดนี้ เราสามารถบอกกันว่า ทุกวันนี้เรามีความก้าวร้าวกันอยู่ในทุกเนื้อหา คือคำพูด หรือวาทกรรมที่เรากล่าวกัน เพียงแต่ว่าเราลดทอนความก้าวร้าวของมัน แทนที่มันจะออกมาในระดับสิบ ก็เหลือเพียงห้าหรือสี่เท่านั้น

เอาเรื่องของความตลกมาประกบกับความก้าวร้าว เราสามารถบอกได้ว่าเนื้อหาคำพูดที่เราพูดกันเรื่องเพศในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมันคือการชกต่อยกันทางคำพูด เพียงแต่ใส่นวมแล้วแกล้งทำเป็นต่อยเบา ๆ ทั้งที่แต่จริงแล้วมันมีจุดประสงค์เพื่อ knock อีกฝ่ายเลยด้วยซ้ำ

เราสามารถสังเกตได้ว่าการล้อเลียนกันเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น 20-30 ปี แต่มีมานานกว่านั้น ดังตัวอย่างที่ได้เห็นด้านบน แต่อาจจะไม่ได้กล่าวถึงเพศทางเลือกอื่น ๆ เพราะในสมัยนั้นเรื่องนี้ยังไม่ boom หรือเป็นประเด็นสำหรับชาวสยามมากนัก

การฉายไฟสีรุ้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องในวัน The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia (IDAHOT) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2015, Cr : IDAHOT Thailand

การฉายไฟสีรุ้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องในวัน The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia (IDAHOT) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2015 [Photo Courtesy of IDAHOT Thailand]

อีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุแห่งทุกยุคทุกสมัยคือ “ความปิตาธิปไตย” ของหลาย ๆ สังคม ซึ่งมันชูความเป็นชายขึ้นสูง โยนความสูงส่ง โดยเฉพาะความกล้าหาญ ให้แก่เพศนี้ และบอกว่าเพศอื่น ๆ เช่น เพศหญิง ความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ว่าเป็นเพศรองโดยนัยยะ เช่น การบอกว่าหญิงเป็นเพศที่เป็นแม่บ้านแม่เรือน นั่นเพราะสังคมคุมขังผู้หญิงไว้ให้อยู่ในบ้าน ลิดรอนสิทธิทางจิตใจในการให้สตรีได้มีบทบาททางสังคมบางอย่าง หรือการบอกว่าเพศเกย์คือความไม่สมบูรณ์แบบของเพศชายในอุดมคติ เป็นต้น เหล่านี้คือเหตุแห่ง “ความเหยียด” ที่อยู่ภายในจิตของเราทุกคน เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราไม่มีชั่วขณะจิตเหล่านี้อยู่ในใจ เราเพียงอาจไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญคือเมื่อสารแห่งความเกลียดชังและรุนแรงเหล่านี้ได้แพร่กระจายออกไปยังผู้รับสารแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ก็จะตามมาเรื่อย ๆ แน่นอนว่าไม่มีใครชอบให้เอาเกียรติยศของตนมาทำเป็นของเล่นได้ เมื่อมนุษย์ทุกคนมิได้ถูกลดทอนกันได้ด้วย “ความเป็น...” แล้วเหตุใดเราจึงนำ “ความเป็นใด ๆ” มาสร้างความเกลียดชังและลิดรอนมนุษยภาวะกันเล่า?

สามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ตามสะดวกนะครับ ความต้องการของผู้เขียนคือการได้เห็นคนมามีส่วนร่วมและร่วมบอกเล่าในความเห็น หรือสิ่งที่ตนได้ประสบมากันนะครับ

Illustrated by Chainwit Dhanasarnsombat

FOLLOW US
  • Black Facebook Icon
  • Black YouTube Icon
  • Black Instagram Icon
SEARCH BY TAGS
FEATURED POSTS
ARCHIVE
bottom of page