top of page

ผม ผม.

  • พระมงกุฎพระลบ
  • Apr 12, 2018
  • 3 min read

“..ถ้าเปิดเสรีทรงผมนักเรียน เด็กจะทำผมตามแฟชั่น สร้างความแตกแยก แปลกแยก และไม่เท่าเทียมกัน..” “ทรงผมนักเรียนมีไว้เตือนสติว่า.. เราคือนักเรียน”

ประเด็นข้อโต้แย้งไปมาเรื่องการ “กำหนดทรงผม” ของผู้เรียนเป็นประเด็นเผ็ดร้อนที่มีการโต้เถียงมาโดยตลอดในระยะเวลาประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของการ “กำหนดทรงผม” โดยผู้เรียนเองมักถูกคัดง้างกับความเท่าเทียม ความเหมาะสม กฎระเบียบ การเข้าสังคม ฯลฯ แต่ความพยายามเพื่อแก้ไข “ระเบียบสังคม” และค่านิยมการ “กำหนดทรงผม” จากตัวผู้เรียน นักกิจกรรม และบุคคลหลายกลุ่มถูกผลักดันขึ้นมาเป็นประเด็นในหน้าสังคมหลายครั้ง ทั้งจากหัวข้อข่าวการลงโทษนักเรียนด้วยการ “กำหนดทรงผม” หรือในวงการโต้วาทีก็ดี

หนึ่งในวาทกรรมเพื่อสนับสนุน “การกำหนดทรงผม” หลัก – ในสายตาของผู้เขียน – คือ การขจัดความไม่เท่าเทียมที่มากับเสรีภาพในทรงผม และความเหมาะสมและความสมวัยที่ถูกผูกติดมากับทรงผมรูปแบบหนึ่ง วาทกรรมเหล่านั้นสนับสนุนการรักษาระเบียบทรงผมที่จำกัดสิทธิของนักเรียนให้คงอยู่ต่อไป

บทความนี้จึงถูกเขียนขึ้น ด้วยจุดประสงค์เพื่อรวบรวมข้อโต้แย้งต่อการ “ตีกรอบเสรีภาพร่างกายของนักเรียน” ผ่านทรงผม ซึ่งขอโต้แย้งที่ผู้เขียนเสนออาจได้ไม่มาก ครอบคลุม หรืออาจเสนอมุมมองที่ไม่เปิดกว้างพอสำหรับผู้อ่าน หากผู้อ่านมีความเห็นใดที่นอกเหนือจากบทความนี้ สามารถร่วมพูดคุยกันได้ และต้องขอกราบอภัยมา ณ จุดนี้ด้วยครับ

ความแตกต่างไม่เท่ากับความไม่เท่าเทียม เป็นจุดเริ่มต้น (starting point) เพื่อการตอบปัญหาในประเด็นเรื่องการกำหนดผมเพื่อการสร้างความเท่าเทียมในหมู่นักเรียน “การกำหนดทรงผม” – รวมไปถึงการกำหนดเครื่องแต่งกาย – มักมาพร้อมกรอบคิดเพื่อความเท่าเทียมในหมู่นักเรียน เพื่อลดการถากถางและค่อนขอดที่สืบมาจากความไม่เท่าเทียมทางฐานะ แต่คำถามที่ตามมาคือ ทรงผมแฟชั่นที่ต่างกันของนักเรียนกระตุ้นต่อมการเหยียดของผู้เรียนขนาดไหนกัน?

ก่อนไปถึงประเด็นนั้น ขออธิบายความหมายของ “ความแตกต่าง” ซึ่งไม่เท่ากับ “ความไม่เท่าเทียม” เสียก่อน เนื่องจากวาทกรรม (Discourse) นี้ต้องการลบความไม่เท่าเทียมของฐานะทางสังคมด้วยการตัดแต่งผู้เรียนให้มีลักษณะคล้ายกันมากที่สุด จุดต่างน้อยมากที่สุด เพื่อกลบและปิดบังความต่างให้ได้มากที่สุด แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกลับสะท้อนได้ในจุดอื่น ๆ – ซึ่งจะอภิปรายในประเด็นถัดไป – และสร้างความชอบธรรมให้กับการจับผู้ใต้อำนาจเข้าสู้พิมพ์หลอมแบบเดียว สร้างความเหมือนที่ไม่ได้เลือก และสร้างความเท่าเทียมในแนวราบ แต่ยังความต่างในแนวดิ่ง

ข้อโต้แย้งหนึ่งยังเสริมอีกว่า ความหลากหลายทางทรงผมของผู้เรียนจะกระตุ้นความรู้สึกแปลกแยกระหว่างกันในหมู่ผู้เรียนเอง แต่ – ความจริงแล้ว – ความแปลกแยกกับร่างกายของตัวเองกลับเกิดขึ้นเมื่อเราถูกชี้นิ้วเลือกภาพลักษณ์ร่างกายของ “ตนเอง” จากผู้อำนาจเสียมากกว่า เพราะเมื่อเราไม่มีสิทธิเลือกความเป็นตัวเองได้แล้ว เมื่อนั้นร่างกายนี้จะเป็นของเราได้อยู่ไย?

เราอาลัยอาวรณ์ให้กับเสรีภาพของเราที่สูญเสียไป ภายใต้หน้ากากหัวเราะของเสรีภาพผู้อื่นที่ถูกลิดรอน

แต่หากไม่มีไฟ แล้วไฉนได้จะมีควัน เหตุนั้นแล้วความแปลกแยกระหว่างบุคคลมันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ความแปลกแยกระหว่างบุคคล มีรากมาจากพฤติกรรมความปกติเรื่องการตัดสินของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สุด ไม่ใช่เรื่องผิดที่สิ่งมีชีวิตจะมีทักษะการแยกแยะสิ่งที่เหมือนและสิ่งที่ต่าง แต่ผลของมันยังผลให้เกิดความรู้สึกไม่เข้าพวก และความรู้สึกแบ่งฝักฝ่าย ซึ่งยังผลต่อทำให้เกิดการเหยียดและแบ่งฝักฝ่ายที่เป็นฝันร้ายของหลายฝ่าย

เป็นเพราะเราต่างเคยชินกับความเหมือนที่ไม่สามารถหลุดออกไปได้ เมื่อเกิดความหลากหลายเราจึงไม่สามารถโอบรับมันได้เลย เมื่อม่านที่เคยปกปิดทุกคนไว้ถูกยกออก แต่เหตุการณ์อย่างฝันร้ายครั้งนั้นจะไม่เกิดขึ้น เมื่อการปลูกฝังการยอมรับและเชิดชูความหลากหลายทางสังคมเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะต่างกันด้วยทรงผม ฐานะ หรือสภาวะทางเพศ – และอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง – ผู้เรียน ซึ่งจะกลายเป็นบุคคลระดับต่าง ๆ ในสังคม จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ และโอบรับมันได้อย่างสบายใจ ต่างจากคนที่ไม่เคยโอบรับความต่างเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เห็นได้ ลักษณะการมองการศึกษาของไทยจะเน้นไปที่ “ระเบียบ” มากกว่าการตั้งคำถามกับ “ระบบ” นั่นคือไม่ได้สร้างความเท่าเทียมที่ระบบการศึกษา แต่เน้นความเหมือนกันและรูปแบบเดียวกันของนักเรียนและผู้ศึกษามากกว่า ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด และเป็นการสร้างปัญหาอื่นเพิ่ม

ปัญหาที่สะท้อนออกมาผ่านเสียงของนักการศึกษาในปัจจุบันเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา สำนวนที่ดูจะสะท้อนสภาพนี้ได้น่าจะเป็น “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ซึ่งเป็นสำนวนเดียวกับที่เราใช้อธิบายการทำงานของตลาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือ หนึ่งบาทเท่ากับหนึ่งเสียง ไม่ใช่ หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง

หากใครนึกไม่ออก อยากให้ลองพิจารณาที่ส่วนนี้ ในห้องเรียนเรามักแบ่งนักเรียนออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดห้อง ซึ่งสัมพันธ์ (associate) กับพฤติกรรมของนักเรียน หรือว่าจะเป็นการแบ่งความน่ารักและความตั้งใจเรียนของเด็กออกเป็นตำแหน่งแห่งที่ของการนั่ง (ซึ่งก็เป็นอุปมา ไม่ได้ตรงตามตัวอักษรจริงนัก) ซึ่งสร้าง Social Expectation ที่ต่างกันออกไปตามมุมมองที่เด็กนักเรียนคนนั้นถูกมอง ซึ่งกับนักเรียนบางคนก็จะจริงจังกับความคาดหวังทางสังคมนี้มาก จึงทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างนักเรียนในกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่แย่งกันเป็นที่หนึ่ง

มองออกไปนอกโรงเรียน เราสร้าง “เกรด” หรือลำดับชั้นระหว่างโรงเรียน เรามักมีกรอบคิดการไม่เปรียบตัวเองกับโรงเรียนที่ “ถูกมองว่าต่ำกว่า” และแต่ละโรงเรียนก็จะคอยกดดันให้เกิด “การแข่งขันระหว่างกัน” เพื่อสร้างความเป็นหนึ่ง หรือความเป็น “ที่สุด” ในด้านต่าง ๆ ของโรงเรียน – การแข่งขันอีกแล้ว!

ความจริงแล้ว การแข่งขันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าไม่ดี การแข่งขันส่งเสริมให้เกิดความจริงจังและความขยันในการทำงาน (หากผู้อยู่ใต้การแข่งขัน “อิน” ไปกับการแข่งขันนั้นจริง ๆ) ซึ่งก็จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับกลุ่ม แต่หากการแข่งขันนั้นจริงจังขึ้นมามากจนเกินไป จะเกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่ม อีกประการหนึ่งที่สำคัญเมื่อผนวกกับระบบทุนนิยมทางการศึกษาอย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นย่อหน้า สิ่งนี้จะสร้างระบบการเรียนการสอนนอกห้องเรียน เรียกอย่างน่ารัก ๆ ว่า “การเรียนกวดวิชา”

มันดูเป็นเรื่องไม่น่าจะเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในคราแรก เพราะมันเป็นเรื่องของ “ความขยัน” ซะมากกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะเรียนนู่นเรียนนี่จากด้านนอกห้องเรียนในโรงเรียนตามเวลาปกติ แต่นั่นคือปัญหาสำหรับคน “ขยัน” แต่ไม่มีเม็ดเงินที่จะถีบตัวเองให้มี “เสียง” ในตลาดการศึกษา เด็กที่อยู่ในครอบครัว upper-middle class ขึ้นไปจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้นัก แต่เด็กชนชั้นกลางและชนชั้นล่างอื่น ๆ ล่ะ?

ความไม่เท่าเทียมที่เป็นปัญหามากกว่า – ไม่ใช่อิสระทางการแสดงออกและสิทธิทางร่างกาย – เป็นปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ในระบบการเข้าระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ใครที่มีทุน (เพราะนี่คือระบบทุนนิยม) มากกว่า – มีเงินมากกว่า มีเวลามากกว่า ฉลาดมากกว่า – จึงสามารถเอาชนะในระบบนี้ได้ คนที่เหลือที่มีทุนน้อยกว่า – เงินน้อยกว่า เวลาน้อยกว่า ฉลาดน้อยกว่า ไฟในการเรียนน้อยกว่า – ก็แพ้ในการแข่งขันนี้ไป รวมไปถึงใครที่ยังไม่มีเป้าหมายในชีวิต ที่ถูกคาดหวังอย่างเป็นระบบให้เรียนต่อตอนอายุ 18 ทำงานตอนอายุ 25 มีใครสักคนในอายุ 30 และแต่งงานก่อนจะขึ้นคานไม่มีใคร

ระบบการศึกษาไทยจึงไม่เอื้ออำนวยให้กับผู้ที่ขาดทุน หรือขาดโอกาสทางการศึกษาเสียเท่าไหร่นัก ผู้ชนะในการแข่งขัน มีโอกาสในการเติบโตมากกว่าผู้แพ้ และวงจรนี้จะยังต่อไปไม่จบสิ้นหากไม่ได้รับการแก้ไข เพราะระบบและกรอบเดิมไม่ได้ถูกแก้เพื่อให้ผู้เรียนทุกชนชั้น ทุกฐานะ ทุกความสนใจ ได้รับโอกาสและการตอบสนองและพัฒนาต่อไปด้วยศักยภาพที่มากที่สุด

ที่สุดแล้ว บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาในการสะท้อนเสียงความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) และต่อต้านระบบทุนนิยม แต่มีเจตนาที่จะกล่าวว่า ความพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมระหว่างกันในปัจจุบัน ละเลยปัญหาใหญ่ที่ควรแก้ไข แต่กลับมองไปยัง “ความแตกต่าง” ของตัวบุคคลและเล็งจี้ ลบล้างให้มันหายไป ซึ่งนั่นเป็นการ “เกาผิดที่คัน” เสียมากกว่า การมองปัญหาจึงสนใจแต่ในจุดเล็ก แต่ละเลยจุดใหญ่ที่สำคัญกว่ามาก

Sigmund Freud (Civilization and Its Discontent) และ Erich Fromm (Escape from Freedom) ดูจะเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าอำนาจของผู้ปกครองกลายร่างเป็น Super-ego ซึ่งเรียกอย่างไทย ๆ ว่า “อภิอัตตา” ตามปกติในชั้นเรียนจิตวิทยาเบื้องต้นจะอธิบายสิ่งนี้ว่าเป็นส่วนที่พัฒนามาจากอัตตา (ego) ของมนุษย์หลังจากสัมผัสกับโลกภายนอกมาระยะหนึ่ง ซึ่งสร้างระบบศีลธรรมภายในจิตใจ แบ่งออกได้เป็นการให้รางวัล (ตนเอง) เมื่อทำดี และการลงโทษ (ตัวเอง) เมื่อทำผิด แต่หากมองลึกลงไปอีก Fromm ได้อธิบายไว้ว่า Super-ego นี้เกิดจาก Authority หรือผู้ปกครองควบคุมวางกฎระเบียบอย่างที่ผู้ปกครองต้องการ ซึ่งผู้ปกครองในที่นี้อาจจะเป็นผู้ปกครองจริง ๆ (parents) เป็นคุณครู หรือเป็นสังคมเองจริง ๆ ก็ได้ นั่นคือเราถูกวางกรอบให้เป็นไปตามสิ่งที่สังคมคาดหวังในระดับจิตใจ ซึ่งมีทั้งระบบการให้รางวัลและให้โทษแก่ตนเอง โดยส่วนตัวของผู้เขียนมองว่ามันคือการรับกฎระเบียบบางส่วนของสังคมเข้ามาไว้ในตนเอง รวมทั้งรับเอาการลงโทษต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน นั่นสร้างความไม่เสรีภายในตนเอง คือผู้อยู่ใต้กฎจะมี conflict ระหว่างความต้องการส่วนตัวและความต้องการเป็นไปตามกฎระเบียบ

ซึ่งบางกฎระเบียบถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกีดขวางเสรีจริง ๆ นั่นคือสร้างเป็นกฎระเบียบที่ห้ามความเป็นตัวเองสู่สังคม ระเบียบทรงผมเป็นหนึ่งในนั้น ผู้เขียนมองว่าในระเบียบ ก็ควรมี “ระเบียบ” ในการร่างระเบียบ พูดอีกนัยคือ ควรมีขีดจำกัดของการสร้างกฎระเบียบที่ใช้ควบคุมผู้อื่น เราควรสามารถร่วมเข้าตรวจสอบระเบียบเหล่านั้นได้ เพราะผู้ออกกฎระเบียบ ในหลายกรณี ไม่ใช่ผู้ที่ต้องอยู่ใต้กฎระเบียบเหล่านี้ จะไม่เข้าใจในความขัดแย้งภายใน หรือความคับข้องใจที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบที่ถูกสร้างขึ้น และนั่นคือปัญหา ไม่ใช่แค่ปัญหาภายนอก แต่คือปัญหาที่หยั่งลึกถึงระดับจิตใจ

Image courtesy of Beat Hotel

Discipline and Punishment ไม่ใช่แนวคิดที่เกิดใหม่ในศตวรรษที่ 21 แต่เป็นแนวคิดที่กำเนิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เพื่อใช้วิจารณ์และวิพากษ์การทำงานของระเบียบวินัย ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบระเบียบที่มีส่วนสร้างสังคมสมัยใหม่ไม่น้อยไปกว่าการแยกตัวของนิกายต่อต้านนิยมของคริสต์ศาสนา (แนวคิดของ Max Weber) แนวคิดที่อ้างอิงนี้มาจาก Michel Foucault ซึ่งหลักการที่เป็นหนึ่งในระเบียบการลงโทษ (Punishment) ได้แก่ Normalizing Judgment

อย่างที่ชื่อได้กล่าวไว้ หลักการนี้ทำงานด้วยวิธีการสร้าง “ความปกติ” หรือเรียกในเชิงสังคมวิทยาว่า “บรรทัดฐาน (norm)” หลักการนี้มีจุดหมายเพื่อลบพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม ด้วยวิธีการ “ให้คะแนน” พฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคคลจะถูกให้คะแนน ยกตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัทจะถูกเจ้านายสอดส่องการทำงาน ว่าพวกเขามีคุณสมบัติที่ดีของการเป็นพนักงาน ได้แก่ ความขยัน ความตรงต่อเวลา มนุษย์สัมพันธ์ และ soft skill ที่ดีหรือไม่ การให้คะแนนนี้จะแบ่งออกเป็น “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน” นอกจากนี้ในการ “ผ่าน” ก็ยังถูกแบ่งเกรดออกมากมาย พอรับได้ ใช้ได้ ดี หรือดีมาก

แต่หาก “ไม่ผ่าน” ก็จะเกิด Normalizing Process หรือกระบวนการทำให้มัน “ปกติ” ลบพฤติกรรม “เบี่ยงเบน” และไม่พึงประสงค์ขององค์กรหรือหน่วยสังคม ซึ่ง Foucault มองว่าวิธีนี้เป็นการ “ลงโทษ” อย่างหนึ่ง วิธีการก็มีหลากหลาย ตัวอย่างที่เรามักสังเกตได้ชัด ๆ คือการกล่าวว่า “เป็นเด็กก็ต้องไว้ทรงอย่างเด็กสิ” แต่เรากลับไม่เคยตั้งคำถามกลับว่า “ทรงอะไรคือทรงของเด็ก?” หรือ “ทรงผมบนโลกถูกกำหนดโดยช่วงวัยหรือ?” มันเป็นเพราะทรงผมนั้นชื่อ “ทรงนักเรียน” นั่นไม่ได้แปลว่ามันกลายเป็นทรงนักเรียนอย่างที่ผู้กำหนดชื่อต้องการกำหนดเด็กนักเรียน และพยายามทำให้มันเป็นเรื่องปกติอย่างที่พวกเขาต้องการ

ความแปลกแยกกับตนเอง ร่วงหล่นไปตามเส้นผมที่ถูกโกน เล็ม และตัดทิ้งไป ตั้งแต่ครั้งที่กฎระเบียบถูกบังคับใช้ บนร่างกายของผู้เรียน หรือ “ผู้อยู่ใต้อำนาจ” แก่นของตัวตน (self) ของเราถูกเปลื้องออกไปทีละน้อย ซึ่งเรื่องนี้ถูกเขียนและถูกพูดถึงในงานเขียนของ Erving Goffman นักสังคมวิทยาที่ได้ศึกษาในเรื่อง stigma หน้ากากเข้าสังคม (persona) และความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษ-ผู้คุม จิตแพทย์-คนไข้ ในเชิงของอำนาจ ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านั้นถูกบันทึกและตีพิมพ์ในหนังสือ Asylum ของเขา

การปลดเปลื้อง self ของนักโทษและคนไข้เกิดขึ้นในขั้นแรกหลังเข้าไปในสถานกักกันและโรงพยาบาล (บทความนี้จะพูดถึงเพียงขั้น (stage) แรกเท่านั้น) เริ่มจากการถูกตัดผม การถูกริบของใช้ส่วนตัวและแทนที่ด้วยเสื้อผ้าอย่างนักโทษปและคนไข้ การถูกกักกันภายใต้พื้นที่จำกัด และการได้รับยาตามคำสั่งของจิตแพทย์ (สำหรับผู้ป่วย) นอกจากนี้ การขออนุญาตเพื่อเข้าห้องน้ำ และการข้ออนุญาตอื่น ๆ ยังถูกใช้อ้างถึงในงานของเขา ในฐานะขั้นตอนในการเปลื้องและกระชากแก่นของตัวตนไปจากเจ้าของมัน

เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาขาดความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในตัวเอง ในงานของ Goffman เขาได้กล่าวว่าขั้นตอนและเหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้เขารู้สึกสับสนและแปลกแยกกับตนเองในที่สุด เป็นการง่ายต่อผู้มีอำนาจในการควบคุม

ผู้อ่านที่อ่านมาถึงจุดนี้อาจค้านอยู่ภายในใจ โรงเรียนเพียงคุมระเบียบการตัดผมเท่านั้น ความเสียหายทำให้ผู้เรียนเสียความเป็นตัวเองขนาดนั้นเชียวหรือ? ขั้นตอนแรกของ Goffman มีองค์ประกอบถึง 4 ประการ โรงเรียนทำเพียงแค่องค์ประกอบเดียว โรงเรียนไม่เคยให้เด็กกินยาตามอาการ โรงเรียนไม่เคยกักบริเวณเด็ก โรงเรียนไม่เคยบังคับเครื่องแต่งกาย.. อาจจะใช่ แต่นั่นก็เป็นเพียงเมื่ออยู่ในบริเวณโรงเรียน หรืออาณาเขตที่โรงเรียนกำหนดเท่านั้น

อย่างไรก็ดี โรงเรียนกำหนดเครื่องแบบเครื่องแต่งกายก็เป็นเรื่องปกติดีไม่ใช่หรือ? มองไปรอบ ๆ ข้างบ้านเราก็มีแต่นักเรียนใส่เครื่องแบบทั้งนั้น จะญี่ปุ่นเอย จีนเอย ประเทศชั้นนำเหล่านั้นต่างมีกฎระเบียบให้ใส่ชุดนักเรียนทั้งนั้น แล้วเหตุใดเราจะทำไม่ได้บ้าง เพียงมีตัดผมเพิ่มขึ้นมาข้อเดียว?

ความแตกต่างระหว่างการกำหนดเครื่องแบบและการกำหนดทรงผม มีอยู่ 2 ประการ คือหนึ่ง ความคงทนถาวร และสอง ความสัมพันธ์กับร่างกายผู้ใต้อำนาจ การกำหนดเครื่องแบบนั้นเกิดขึ้นเพียงอาณาบริเวณโรงเรียนเท่านั้น อย่างดีก็นอกเขตโรงเรียนไม่เกิน 200 เมตร การตีกรอบและริบเสรีภาพจึงมีอยู่จำกัดและไม่ถาวรในเวลาและสถานที่ แต่ทรงผมนั้นไม่สามารถเรียกกลับคืนในเวลาอันสั้น เมื่อถูกตัดทิ้งแล้วมันจะคงทนและดำรงอยู่เป็นเวลานาน จนกว่าการบังคับใช้กฎระเบียบนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อเราจบการศึกษาหรือออกจากสถานศึกษาอย่างสมบูรณ์

และด้วยความที่เครื่องแบบนั้นสามารถปลดได้อย่างง่ายดาย มันจึงมีความสัมพันธ์กับร่างกายผู้เรียนน้อยมาก ต่างทรงผมที่นอกจากจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของร่างกายผู้เรียน การตีกรอบองค์ประกอบเหล่านี้จึงร้ายแรง เพราะนั่นหมายถึงริบความเป็นเจ้าของร่างกายตนเองของผู้เรียน

ตัวตนที่ถูกเปลื้องไป ที่สำคัญและเป็นที่กล่าวถึงคือเรื่องของเพศวิถี (gender) อย่างที่ได้เคยกล่าวไปในบทความเก่า ๆ เกี่ยวกับการล้อเลียน และการกล่าวถึงเพศวิถีใด ๆ เป็นเรื่องที่เจ็บปวด เพราะมันจะเข้าทำร้ายในแก่นกลางของตัวตนของคนผู้นั้น

ผู้เขียนได้ตั้งสมมติฐานอย่างหนึ่งไว้ว่า “หากปัจเจกบุคคลได้แต่งตัวในอย่างที่ตนเองชอบ จะแสดงความเป็นตัวตนได้ดีกว่าการถูกกำหนดแบบแผนเครื่องแบบ” ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ (ค่อนข้างชัดเจน) คือการแต่งตัวลำลองในช่วงเรียนพิเศษภาคฤดูร้อน เราเห็นนักเรียนแต่งชุดฮาวาย เปิดเนื้อหนังส่วนบนของตน (เล็กน้อย) เราสามารถเห็นกางเกงยาวขาบานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชุดเหล่านี้เป็นชุดที่พวกเขาจะใส่ในเวลาที่ออกมาพบปะกับเพื่อนฝูง หรือออกมาพบปะกับสังคมข้างนอก เพราะมันทำให้พวกเขามั่นใจในความเป็นตัวเองผ่านทางอาภรณ์ของพวกเขา

ทรงผมเองก็เช่นกัน ทรงผมเป็นสิ่งที่นักเรียน (หรือวิชาชีพใดก็ตาม) มีความต้องการจะเลือกในการแสดงความเป็นตัวเอง พวกเขาสามารถเลือกจะทำทรงผมอย่างที่พวกเขาอยากทำ เพราะนั่นทำให้เขามั่นใจในตัวเขาได้มากกว่า รู้สึกว่าตัวเองดูดีในอย่างที่ตัวเองอยากเป็น รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ยืนหน้ากระจก และดีทุกครั้งที่จะได้เดินออกไปพบปะสังคม ความรู้สึกเหล่านี้มีรากมาจาก self-esteem ที่สถาบันไม่อาจกำหนดให้กับนักเรียนได้

ทรงผมถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของตัวตน (Self) มันคือส่วนหนึ่งของร่างกาย และที่สำคัญคือมันสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ถือครองทรงเหล่านั้นไว้บนศีรษะ ในเมื่อมันคือความมั่นใจ มันคือตัวตนของคนคนนั้น ใช่หรือไม่ที่จะสร้างเสรีภาพให้กับผู้ที่มีทรงนั้นไว้ครอบครัว ทรัพย์สิน สิทธิในร่างกาย ล้วนเป็นสิ่งที่ประเทศเสรีต่างให้การยอมรับว่าเป็นของที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่โบราณผู้คนเรียกร้อง ต้องการสิ่งเหล่านี้สู่ร่างกายของตนเอง ต้องการ “เสรีภาพ” ในการเป็นตัวเองในเรื่องอธิปไตย แต่กลับละเลยในเรื่องที่ถูกมองว่า “เล็ก ๆ” เหล่านี้ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เล็กเลย มันกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อถูกตั้งคำถาม และเราเชื่อมั่นว่าการตั้งคำถาม จะเป็นพลังอย่างหนึ่งที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง

Foucault อธิบายว่า เหตุการณ์หนึ่งเกิดจากหลายเหตุปัจจัยรวมกันและสร้างปรากฏการณ์หนึ่งขึ้นมา

แล้วพวกเราล่ะ พร้อมหรือยังที่จะเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

Illustrated by Chainwit Dhanasarnsombat

댓글


FOLLOW US
  • Black Facebook Icon
  • Black YouTube Icon
  • Black Instagram Icon
SEARCH BY TAGS
FEATURED POSTS
ARCHIVE
bottom of page