"ตุ๊ดเป็นคนตลก" เรื่องนี้ไม่ตลก - การล้อกันว่าตุ๊ดเกย์บอกอะไรกับสังคม
- พระมงกุฎพระลบ
- Jun 19, 2017
- 1 min read

(ท่านสามารถติดตาม เป็นเกย์แล้วตลกมากหรอ? ทำไมตุ๊ดเกย์จึงเป็นคำล้อกัน ในเชิงจิตวิทยา ได้ที่ : https://goo.gl/dBEvvD )
Q: เจตคติที่แสดงในโรงเรียน (โดยเฉพาะเรื่องเพศ) สะท้อนอะไรยังสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน? หรือสามารถคาดเดาไปยังอนาคตของสังคมไทยได้อย่างไร? และเจตคติเหล่านี้สร้างผลกระทบอะไรต่อสังคม?
เคยได้ยินกันไหมว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ”
แล้วคิดกันไหมว่าอนาคตของชาติควรมีลักษณะแบบไหน...ใช่แบบที่เป็นกันอย่างปัจจุบันรึเปล่า? มีบทความเกี่ยวกับการศึกษาของไทยมากมาย ออกมาบอกว่ามันยังไม่ใช่เส้นทางที่ดีนัก สำหรับการให้เด็กเดินตามเสียทีเดียว ทั้งมีเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุนมากมาย เห็นหรือไม่ว่าส่วนสำคัญในปัญหานี้ไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลต่อเยาวชน เพราะผู้ใหญ่สามารถกำหนดขอบเขตการ “รู้” ของเด็กได้เป็นอย่างดี ทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถกันเด็กออกจากหนังสืออันมีคุณค่า สร้างกำแพงสูงหนาไว้ป้องกันโลกภายนอก หากจะยกตัวอย่างอย่างเป็นอุปมาอุปไมย หลายท่านก็คงจะไปนึกถึงผลไม้แห่งความรู้ผิดชอบชั่วดีภายในสวนเอเดน – เรื่องราวครั้งสร้างโลกของศาสนาคริสต์ เช่นนั้นแล้วผู้ใหญ่มีส่วนอะไรกับการรับรู้ หรือเจตคติของเด็กต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศ
Albert Bandura (1925-2016) ได้เสนอทฤษฎี Social Learning ที่บอกว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการวางเงื่อนไขอย่างที่นักจิตวิทยาสายพฤติกรรมนิยมกล่าวกันเสมอไป แต่เกิดจากการที่เด็กมี model หรือแบบอย่างใด ๆ เมื่อเด็กได้รับการตอบสนองไปในทางบวก เด็กก็จะมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมเหล่านั้นต่อ ผู้ใหญ่เป็น model ของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเด็กซึมซับพฤติกรรมหรือการแสดงความรังเกียจต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มันจะไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดเลยแม้แต่น้อย ที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นบ้าง

[Photo Courtesy of WIX]
สิ่งนี้ส่งผลต่อในเรื่องการวางเงื่อนไขอย่างพฤติกรรมนิยม B. F. Skinner ได้เสนอทฤษฎี Operant Conditioning ซึ่งเป็นการวางเงื่อนไขโดยมีสิ่งเสริมแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ หากพฤติกรรมไหนเกิดขึ้นแล้ว สร้างความพึงพอใจต่อผู้กระทำ (หรือสามารถนำความไม่พึงพอใจออกไปได้) พฤติกรรมเหล่านั้นก็จะมีแนวโน้มเกิดขึ้นอีก ในขณะที่พฤติกรรมที่สร้างความไม่พึงพอใจจะมีให้ผลตรงกันข้าม เราสามารถนำทฤษฎีเหล่านี้มาอธิบายได้ว่า นักเรียนภายในห้อง มีทัศนคติทางเพศจากที่บ้าน เมื่อแสดงพฤติกรรมที่ส่อถึงทัศนคติเหล่านั้นแล้วมีคนเห็นด้วย มีคนเห็นว่าตลก สิ่งเหล่านี้ทำให้นักเรียนหลายคนได้รับความพึงพอใจและมีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ต่อ หรือแม้แต่บางคนที่ไม่ได้รับทัศนคติเหล่านี้มาจากบ้านโดยตรง ก็สามารถรับจาก model จากครูหรือเพื่อนที่โรงเรียน
อีกสาเหตุหนึ่ง – ปัจจัยหลักที่หล่อหลอมทัศนคติของปัจเจกบุคคล – คือสื่อ สื่อเองก็มีส่วนในการกำหนดขอบเขตความคิด และชักจูงกรอบการรับรู้ของเด็ก หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ละคร สารคดี ภาพยนตร์ หรือข่าวที่มีการพูดหรือนำเสนอความคิดเห็นของนักข่าวออกมา
แล้วสิ่งเหล่านี้สะท้อนไปยังสังคมได้อย่างไร อย่างที่บอกว่าพฤติกรรมหรือเจตคติมีรากฐานมาจาก model ทางสังคมของเด็กคนหนึ่ง มองอย่างสืบสาวเหตุปัจจัย model เหล่านั้นก็ยังเป็นปัจเจกคนหนึ่งภายในสังคม เพราะฉะนั้นเขาเองก็เป็นเสียงทางสังคมหนึ่งเสียงเช่นกัน (และบางครั้งก็เป็นมากกว่าหนึ่งเสียง เช่น ละคร ซึ่งส่งผลเป็นวงกว้างแก่ผู้เสพสื่อ)
มองไปยังอนาคต เยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นเสียงอื่น ๆ อีกมากมายหลายเสียง – ถ้าหากเขายังไม่ได้รับการปรับเจตคติให้เปิดกว้าง
แล้วความคิดเหล่านี้ส่งผลยังไงกับสังคม?
เคยคิดไหมว่า ทำไมเราต้องยอมรับ LGBTQ ทำไมเราต้องให้เกียรติเขาอย่างนั้นอย่างนี้ เชื่อว่าหลายคนก็คงคิดเหมือนกัน
แต่เราก็อยากถามกลับว่า ทำไมเราถึงไม่ให้เกียรติพวกเขาล่ะ?
ทัศนคติเหล่านี้สามารถนำไปสู่ความไม่เข้าใจ และกลายเป็น Stereotype และ Discrimination ได้ นั่นหมายถึงเราไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศในลักษณะที่หลากหลายจริง ๆ ตัวอย่างง่าย ๆ คือเราบอกว่า เป็นตุ๊ดต้องตลก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตุ๊ดเป็นมนุษย์เหมือนเรา ๆ ทุกคน ทำไมถึงไม่ปล่อยให้พวกเขาใช้ศักยภาพที่จะเศร้า หรือมีความสุขอย่างที่พวกเขาเป็น ทำไมเราถึงกำหนดพวกเขาต้องร่าเริง ตัวเป็นตัวตลกให้กับสังคมใด ๆ เสมอไป หรือหลายครั้งที่มักจะมีคำพูดว่า “ถึงเขาจะเป็น เกย์/ตุ๊ด/ทอม/ดี้ แต่เขาก็เป็นคนดี” ซึ่งตามหลักความจริงแล้ว เพศไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรม การปฏิบัติตน หรือจริยธรรมใด ๆ เลย สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงรสนิยมและบุคลิกภาพเท่านั้น รุนแรงกว่านั้น บางคนกีดกัน หรือไม่ให้เกียรติผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรามองเขาด้วยอคติ ทั้ง ๆ ที่ภายในใจคือความกลัว – ซึ่งจะไม่ขออธิบายเพิ่มในส่วนนี้ – เช่น การไม่รับผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าทำงาน หรือการอ้างว่าเครื่องแต่งกายเหล่านี้ไม่เหมาะสมต่อการแสดงออกซึ่งความหลากหลายทางเพศ

[Photo Courtesy of WIX]
Hate speech หรือสิ่งที่วาทกรรมอันนำไปสู่ความเกลียดชัง เป็นสิ่งที่เราเห็นได้อยู่บ่อย ๆ บางครั้งมันมาในรูปของการเหยียด บางครั้งมันอยู่ในรูปของความตลก ที่อีกฝ่ายไม่ได้ตลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคำพูดในการล้อเลียนกันในโรงเรียน หรือในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการแสดงความคิดเห็นที่จัดเป็นการ “เหยียดเพศ” แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศมากมาย เหล่านี้ล้วนเกิดจากความไม่เข้าใจทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งล่วนแต่สร้างความร้าวฉาน และไม่สามารถทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีจุดหมายเพียงอย่างเดียวคือการสร้างรอยสมานให้แก่พื้นที่ของเหล่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเขากลายเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ให้ถูกกระทำเยี่ยงคนอื่น ๆ ไม่ได้เหนือกว่า และไม่ได้ต่ำกว่า
สามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ตามสะดวกนะครับ ความต้องการของผู้เขียนคือการได้เห็นคนมามีส่วนร่วมและร่วมบอกเล่าในความเห็น หรือสิ่งที่ตนได้ประสบมากันนะครับ
Illustrated by Patiparn Saichuea
Commentaires